โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคเล็ปโตสไปโรซิส เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเล็ปโตสไปรา (Leptospira) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข และแรคคูน โดยสัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการแต่มีการติดเชื้อที่ท่อไตทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ ซึ่งเชื้อจะแฝงอยู่ในจุดที่น้ำท่วมขังตามดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ลักษณะอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการสัมผัสน้ำแก่แพทย์ผู้รักษาให้ทราบด้วย หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นอาจเสียชีวิตได้

ช่องทางการติดต่อ
การแพร่เชื้อโรคฉี่หนูสามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ
1.  การแพร่เชื้อทางตรง
  • โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรีย ผ่านดวงตา, ปาก (ปนเปื้อนในอาหาร), จมูก (กลิ่น), หรือร่างกายส่วนที่เป็นแผลสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย
  • โดนสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรียกัดเข้าโดยตรง

2.  การแพร่เชื้อทางอ้อม
  • ปัสสาวะของสัตว์ติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับน้ำ, ดินที่เปียก หรือพืชผักต่างๆ
  • ผิวหนังปกติที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน หรือแช่ในน้ำท่วม
  • การย่ำดินโคลนเป็นเวลานาน
  • การว่ายน้ำในแหล่งน้ำสกปรก หรือที่มีน้ำท่วมขัง

การป้องกัน
วิธีการป้องกันตัวเองจากโรคฉี่หนู สำหรับประชาชนทั่วไป มีดังนี้
  1. หลีกเลี่ยงการแช่ในน้ำ หรือเลี่ยงการเดินในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง
  2. ควบคุมหรือกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยให้ปราศจากหนู
  3. หากหลีกเลี่ยงการลุยน้ำไม่ได้ ต้องรีบทำความสะอาดมือ และเท้าหลังลุยน้ำทันที

วิธีป้องกันตัวสำหรับอาชีพเกษตรกร ปศุสัตว์ หรือผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ มีดังนี้
  1. ควรสวมถุงมือยางหรือรองเท้าบู๊ต
  2. ควบคุมและกำจัดหนูตามบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท หรือชุมชนแออัด
  3. แยกสัตว์ที่ติดเชื้อออกจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

BACK TO TOP